พระราชประวัติ ของ เติงกูบูเดรียะฮ์ บินตี อัลมาร์ฮุม เติงกูอิซมาอิล

พระชนม์ชีพช่วงต้นและการศึกษา

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2468 ณ เมืองกัวลาไกร รัฐกลันตัน เป็นพระธิดาเติงกูอิซมาอิล บิน ตวนเบอซาร์แห่งปัตตานี กับเติงกูเบอซาร์ซูไบดะฮ์ บินตี เติงกูอับดุล กาดีร์ (หรือเอกสารไทยเรียก ตนกูซูไบด๊ะ) โดยพระราชชนกเป็นพระโอรสของราจาตวนเบอซาร์ อิบนี ตวนลงปูเตะฮ์ (หรือ ตนกูบือซาร์) เป็นอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ 5 และตวนลงปูเตะ (หรือ ตนกูปูเต๊ะ) เป็นอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ 4 ส่วนพระราชชนนีเป็นพระธิดาของเติงกูอับดุล กาดีร์ (หรือ ตนกูอับดุลกอร์เดร์กามารุดดีน) เจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย[2]

บรรพชนของพระองค์ปกครองเมืองปัตตานีมายาวนาน และเป็นพระญาติวงศ์ห่าง ๆ กับเจ้าผู้ครองรัฐกลันตัน ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกการปกครอง 7 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2445 โดยให้ข้าหลวงใหญ่ชาวสยามรับผิดชอบเมืองปัตตานีภายใต้การดูแลจากเมืองสงขลา[3] เติงกูอับดุลกาดีร์จึงอพยพครอบครัวลี้ภัยไปยังรัฐกลันตันมาตั้งแต่นั้น

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์อย่างเรียบง่าย มีอุปนิสัยส่วนพระองค์สุภาพอ่อนโยน ทรงเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนที่สอนด้วยภาษามลายูเมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา จากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนอังกฤษกัวลาไกร แล้วทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสตรีอังกฤษ-จีน เมืองอีโปะฮ์ พระองค์มีความสนพระทัยกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบราวนีและเนตรนารี และทรงเข้าร่วมการชุมนุมเนตรนารีที่แจมโบรี ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2493 นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นตัวแทนโรงเรียนในการแข่งขันกีฬาแบดมินตันและฮอกกี้ นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยด้านการเย็บปักถักร้อย ประกอบพระกระยาหาร จัดดอกไม้ และทรงม้า[4]

อภิเษกสมรส

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์อภิเษกสมรสกับรายาปูตราแห่งปะลิส ใน พ.ศ. 2484 ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ซึ่งขณะนั้นพระราชสวามียังดำรงพระอิสริยยศเป็นรัชทายาทแห่งปะลิส ทั้งสองมีพระราชโอรส-ธิดาทั้งหมด 10 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 5 พระองค์ และเป็นพระราชธิดา 5 พระองค์

ครอบครัวของพระองค์ทรงลี้ภัยหลังกองทัพญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ทรงแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการเปิดร้านขายเค้กและร้านขายของชำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในโกตาบารู หลังญี่ปุ่นปราชัยต่อสงครามโลกครั้งที่สองใน พ.ศ. 2488 พระองค์และครอบครัวประทับรถไฟเพื่อเสด็จกลับรัฐปะลิสจนถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จากนั้นทรงโยกรถไฟด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองไปจนถึงสถานีรถไฟบูกิตเกอเตอรี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีรถไฟเปิดให้บริการ[4]

ครั้น พ.ศ. 2488 รายาปูตราแห่งปะลิสขึ้นเสวยราชสมบัติเป็น รายาแห่งปะลิส และพระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น ราจาเปอเริมปวน หรือสมเด็จพระราชินี และใน พ.ศ. 2503 รายาปูตรา และสมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ยังดีเปอร์ตวนอากง และ รายาประไหมสุหรีอากง

สวรรคต

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์เสด็จสวรรคตอย่างสงบขณะบรรทมที่โรงพยาบาลกัวลาลัมเปอร์เมื่อเวลา 03.47 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 สิริพระชนมายุ 83 พรรษา[5]

สุลต่านมีซัน ไซนัล อาบีดิน ยังดีเปอร์ตวนอากง และอับดุลละฮ์ อะฮ์มัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนอัญเชิญพระบรมศพจากท่าอากาศยานสุลต่านอับดุลอาซิซชะฮ์ ไปยังท่าอากาศยานอับดุลฮาลิมในอาโลร์เซอตาร์โดยกองทัพอากาศมาเลเซีย จากนั้นได้อัญเชิญหีบพระบรมศพด้วยรถยนต์ไปยังเมืองอาเรา อนุญาตให้ประชาชนเฝ้ารับเสด็จและร่วมไว้อาลัยเพียงหนึ่งชั่วโมง โดยมีสุลต่านและสุลต่านหญิงแห่งเกอดะฮ์เสด็จมาในพิธี ก่อนจะนำหีบพระบรมศพฝังลงในสุสานหลวงในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เติงกูบูเดรียะฮ์ บินตี อัลมาร์ฮุม เติงกูอิซมาอิล http://www.bernama.com/bernama/v5/newsgeneral.php?... http://www.bernama.com/bernama/v5/newsindex.php?id... http://thestar.com.my/news/story.asp?file=/2008/11... http://www.malaysianmonarchy.org.my/portal_bi/rk3/... https://web.archive.org/web/20070928121506/http://... https://web.archive.org/web/20121017222056/http://... https://dc.oas.psu.ac.th/dcms/files//01863/Chapter... https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2505/D...